มนุษย์ถ้ำของเพลโต

เรื่องมนุษย์ถ้ำของเพลโตเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าเชิงปรัชญาที่โด่งดังที่สุดของเพลโตเกี่ยวกับมนุษย์ถ้ำผู้ซึ่งความเป็นจริงของพวกเขาถูกกำหนดโดยการขาดซึ่งความรู้ของพวกเขาเอง

Cover for มนุษย์ถ้ำของเพลโต

1 เวลาอ่าน


เรื่องมนุษย์ถ้ำของเพลโต (Allegory of the Cave) เป็นหนึ่งในเรื่องเล่าเชิงปรัชญาที่โด่งดังที่สุดของเพลโต นักปราชญ์ชาวกรีก โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ปรากฏอยู่ในหนังสือของเพลโตชื่อ Republic

ลองจินตนาการถึงกลุ่มมนุษย์ถ้ำกลุ่มหนึ่งที่ลูกล่ามโซ่ตรวนไว้โดยหันหน้าเข้าหาผนังถ้ำ คนเหล่านี้เกิดและเติบโตขึ้นมาพร้อมกับเงาของสรรพสิ่งบนผนังถ้ำที่อยู่ตรงหน้าของพวกเขา เมื่อใดก็ตามที่มีสิ่งผ่านหน้าปากถ้ำ เงาของสิ่งเหล่านั้นก็จะถอดลงมาบนผนังถ้ำต่อหน้าของพวกเขา พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับโลกของพวกเขาผ่านทางเงาบนผนังเหล่านั้น “นี่คือนก” พวกเขาเรียกเงาของนกที่บินผ่านปากถ้ำว่านก “นี่คือฝน” พวกเขาเรียกเงามัวๆของฝนที่ถอดลงผนังถ้ำว่าฝน เงาบนผนังถ้ำเหล่านั้นคือทุกสิ่งที่คนเหล่านี้เข้าใจว่าคือโลก สิ่งที่เห็นคือสิ่งที่เป็น เงาบนผนังถ้ำเหล่านั้นคือความจริงของธรรมชาติ

วันหนึ่งหนึ่งในมนุษย์ถ้ำหลุดออกมาจากโซ่ตรวนที่ล่ามเขาไว้ได้สำเร็จ เขาลุกเดินออกมาจากถ้ำและพบกับแสงสว่างที่ปากถ้ำเป็นครั้งแรก เขาเดินออกมาจากถ้ำและพบกับโลกใหม่ที่เขาไม่เคยเห็นหรือแม้แต่จะจินตนาการถึงมาก่อน โลกแห่งสามมิติที่มีครบทั้งความกว้างความยาวและความสูง โลกแห่งสีสันที่มีมากกว่าแค่ความมืดและความสว่าง เขาพบว่าความเป็นจริงทั้งหมดที่เขาเคยเชื่อเป็นเพียงแค่เงาที่เกิดจากแสงสว่างกระทบกับวัตถุสามมิติข้างนอกถ้ำ เขาพบว่าโลกทั้งใบของเขาเป็นเพียงแค่ถ้ำเล็กๆแห่งหนึ่งในโลกอันกว้างใหญ่

คนผู้นี้เดินย้อนกลับเข้าไปในถ้ำเพื่อหวังจะปลดตรวนให้แก่เพื่อนๆของเขาออกมาจากถ้ำด้วยกัน เขาเล่าถึงสิ่งที่เขาได้ไปประสบมาให้กับคนอื่นในถ้ำฟังอย่างตื่นเต้น ทว่าแทนที่คนอื่นๆจะร่วมตื่นเต้นไปด้วยกัน กลับกลายเป็นว่าชาวถ้ำคนอื่นๆไม่เข้าใจในสิ่งที่เขาพยายามอธิบาย บ้างก็ว่าคนๆนี้เสียสติไปแล้วเพราะว่าหลุดจากโซ่ตรวน บ้างก็โมโหที่คนๆนี้พยายามจะบอกว่าสิ่งที่พวกเขารู้อยู่นั้นไม่ถูกต้อง สำหรับมนุษย์ถ้ำคนอื่นๆแล้วสิ่งที่เขาเล่าเหมือนเป็นการทำลายโลกของพวกเขาลงอย่างสิ้นเชิง

เรื่องมนุษย์ถ้ำของเพลโตนี้สามารถตีความได้ในหลายความหมาย โดยดั้งเดิมแล้วเพลโตใช้เรื่องของมนุษย์ถ้ำนี้ในการเปรียบเปรยถึงความสำคัญและความยากลำบากในการให้การศึกษาแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อที่นามธรรมเช่นปรัชญาและความเชื่อ นอกจากนั้นแล้วเรื่องของมนุษย์ถ้ำนี้ยังเป็นตัวอย่างของอภิปรัชญาแบบเพลโตด้วย กล่าวคือ โลกที่เราเห็นและรับรู้ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้งห้านั้นอันเรียกว่า โลกแห่งวัตถุ (World of materials) เป็นเพียงแค่ภาพฉายที่เกิดขึ้นมาจาก โลกแห่งรูปแบบ (World of forms) ความจริงแท้ของธรรมชาติตามหลักของเพลโตแล้วคือแบบ ไม่ใช่วัตถุ

แนวคิดตามแบบอย่างของเพลโตนี้มีให้เห็นมากมายทั้งในเชิงร่วมสมัย เชิงวิทยาศาสตร์ เชิงสังคมศาสตร์ เป็นต้น มีเรื่องราวมากมายที่กล่าวถึงโลกเสมือนที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในโลกใบนั้นปราศจากซึ่งการรับรู้ว่าโลกของตัวเองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นจริงอันยิ่งใหญ่กว่ามาก ในทางฟิสิกส์แล้วเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าโลกนี้นั้นมีมากกว่าสามมิติและมนุษย์เราซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตสามมิติไม่อาจจะรับรู้มิติที่มากกว่าสามได้ (เราจะขยายประเด็นในครั้งถัดไป) ยิ่งไปกว่านั้นแล้วแนวความคิดเดียวกันนี้ยังคงเป็นหลักการพื้นฐานของศาสนาส่วนใหญ่ในโลกเช่นเดียวกัน นั่นคือคำสอนทางศาสนาทั้งหลายมักเป็นความพยายามจะอธิบายให้คนฟังเข้าใจว่าโลกที่พวกเขาพบเจอนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “ความจริงแท้” อย่างไร เปรียบได้กับความพยายามของมนุษย์ถ้ำผู้นั้นผู้พยายามอธิบายความจริงให้กับชาวถ้ำคนอื่น

พวกเราเองนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับเหล่ามนุษย์ถ้ำที่ถูกล่ามตรวนไว้เหล่านี้ ผู้ซึ่งความจริงทั้งหลายถูกกำหนดโดยสิ่งที่รับรู้และพบเห็นมา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกต้องมากน้อยเพียงใด ปรัชญาและศาสนาคือผู้ที่มาบอกเราว่าโลกภายนอกถ้ำนั้นเป็นเช่นไร ความแตกต่างระหว่างเรากับเหล่ามนุษย์ถ้ำของเพลโตนั้นคือมีคนหลายคนที่มาเล่าให้เราฟังว่าโลกภายนอกถ้ำนั้นเป็นเช่นไร บ้างก็เล่าตรงกันบ้างก็ขัดแย้งกัน น่าเสียดายที่เราไม่สามารถปลดโซ่ตรวนของตนแล้วออกไปดูโลกภายนอกถ้ำด้วยตัวเอง


แชร์บทความนี้